วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

การแก้ปัญหาข้าวกล่อง

เรื่องเล่าเร้าพลัง


จากกิจกรรม KM หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวา รุ่นที่ ๔ รร.พธ.พธ.ทร.

หลังจากที่ นทน.หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวาได้พยายามบ่มเพาะความรู้เกี่ยวกับ KM มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนมีความรู้ขึ้นมาบ้างแบบงูๆ ปลาๆ และแม้จะยังกล้าๆ กลัวๆ แต่ในที่สุดพวกเราก็ตัดสินใจทดลองทำ KM กันจริงๆ เสียที โดยช่วงแรกนี้ เราได้เลือกใช้เทคนิค Story Telling หรือเรื่องเล่าเร้าพลังมาเป็นเครื่องมือ โดยการปรับเปลี่ยนการฝึกพูดตอนเช้ามาเป็นการเล่าเรื่อง ซึ่งแม้ว่าการทำ KM ของพวกเราจะไม่สามารถระบุหัวข้อ (หัวปลา ตามโมเดลปลาทูของ ส.ค.ส.) ได้อย่างชัดเจนเนื่องจากพวกเรามาจากต่างหน่วยและมีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่เราก็คิดว่าความแตกต่างนี้จะช่วยเป็นพลังผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยพวกเราจะได้นำความรู้ที่ได้เหล่านี้มาเผยแพร่ยังเวปบอร์ดแห่งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ชาวพลาธิการทุกท่าน ซึ่งก่อนที่ นทน.จะสำเร็จการอบรมและสลายตัวไป ก็หวังว่าการทดลองทำ KM ของพวกเรา คงพอจะเกิดประโยชน์และได้ความรู้ที่จะเป็นข้อมูลให้แก่คณะกรรมการจัดการความรู้ของ พธ.ทร.ได้นำไปพิจารณาคัดเลือกเพื่อจัดเก็บเป็นองค์ความรู้ของ พธ.ทร.ให้พวกเราได้นำไปใช้ต่อยอดและสร้างองค์ความรู้ต่อๆ กันไป

สำหรับผู้ที่จะมาเปิดฟลอร์วันนี้ ได้รับเกียรติจาก ร.อ. มณีฯ หรือครูมณีแห่ง รร.พธ.ฯ ซึ่งจะมาพูดให้พวกเราฟังเกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้าวกล่อง โดยมี น.ท. บำเพ็ญ ศรีสมบัติ ประธานรุ่น รับหน้าที่เป็น note taker หรือ คุณลิขิต



เรื่อง การแก้ปัญหาข้าวกล่อง (เรื่องเล่าจากหลักสูตร นพธ.ชั้น นายนาวา รุ่นที่ ๔ รร.พธ.พธ.ทร.)

ผู้พูด /ผู้เชี่ยวชาญ : ร.อ. มณี เขียนกระจ่าง

ผู้จดบันทึก : น.ท. บำเพ็ญ ศรีสมบัติ



ครูมณี เป็นครูอาหารของ รร.พธ.ฯ ซึ่งเคยปฏิบัติงานด้านการจัดเลี้ยงมาก่อน และได้เคยพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำข้าวกล่องเพื่อสนับสนุนให้แก่หน่วยต่างๆ โดยปัญหานั้นก็ได้แก่ ปัญหาข้าวมักบูดเสียง่าย หรือไม่น่ารับประทาน (ไม่อร่อย) เช่น ข้าวแข็ง แฉะ หรือสุกๆ ดิบๆ จนไม่สามารถรับประทานได้ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วย ครูมณีจึงได้พยายามหาวิธีการแก้ปัญหานี้



Speedy chicken lunches for toddlers


ครูมณีมีญาติเป็นเจ้าของโรงสี จึงพอจะมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับข้าวอยู่บ้าง ดังนี้

ชนิดของข้าว สามารถแยกตามอายุของข้าวดังต่อไปนี้

ข้าวใหม่ : เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ หรือไม่เกิน ๓ เดือน นำมาสี การสังเกตจากเม็ดข้าวจะเห็นว่ามีน้ำหนัก ไม่ค่อยมีฝุ่นละออง เมื่อทิ้งลงพื้นจะไม่กระเด็น

ข้าวกลางเก่ากลางใหม่ : เป็นข้าวที่ได้จากภายหลังเก็บเกี่ยว ๕ – ๑๐ เดือน เมื่อหยิบจับจะมีละอองข้าวติดมือ เมื่อทิ้งลงพื้น จะกระเด็นมากกว่าข้าวใหม่

ข้าวเก่า : เป็นข้าวที่นำข้าวซึ่งเก็บเกี่ยวมาแล้วมากกว่า ๑ ปี มาสี เมื่อใช้มือสัมผัส จะมีฝุ่นมากกว่าข้าวใหม่ และข้าวกลางเก่ากลางใหม่ ถ้าเก็บไว้นานๆ จะมีรังข้าวหรือหนอนข้าวเกิดขึ้น ข้าวเก่านี้ ถ้าตากไม่แห้ง จะมีลักษณะขาวขุ่นและยุ่ยง่าย



แหล่งที่มาของข้าว

ข้าวนาปรัง : ได้จากกการทำนาปีละ ๓ ครั้ง เก็บเกี่ยวได้เร็ว มีความชื้นมากกว่าข้าวนาปี

ข้าวนาปี : ได้จากการทำนาปีละครั้ง ข้าวมีอายุยาวนานกว่าจะเก็บเกี่ยว



จากความรู้ดังกล่าว ครูมณีได้สังเกตเพิ่มเติมแล้วก็พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับข้าวกล่องตามที่กล่าวข้างต้นนั้น มีสาเหตุดังนี้

- ข้าวบูด : ปัญหาเกิดจากการนำข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ขณะร้อนมาใส่กล่อง ทำให้มีเหงื่อของข้าว ภายหลังบรรจุกล่องแล้ว เก็บไว้ไม่นานก็จะบูด นอกจากนี้ การที่ข้าวสัมผัสกับอาหารที่บูดเสียง่าย หรือการที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน จะเป็นตัวเร่งให้ข้าวกล่องบูดได้เร็วขึ้นด้วย

- ข้าวแข็ง : เกิดจากการนำข้าวเก่ามาหุง เวลาหุงใส่น้ำน้อย

- ข้าวแฉะ : เกิดจากการนำข้าวใหม่มาหุง เมื่อข้าวเย็นตัวลงจึงจับตัวเป็นก้อน หรือเกิดจากการหุงใส่น้ำมาก ไม่ได้อัตราส่วน

- ข้าวสุกๆ ดิบๆ : เกิดจากการนำข้าวที่มีส่วนผสมระหว่างข้าวเก่าและข้าวใหม่มาหุง ทำให้ข้าวสุกไม่พร้อมกัน หรือบางส่วนยังไม่สุก



การแก้ปัญหา : ครูมณีได้นำความรู้และข้อสังเกตนี้ไปปรับใช้และได้ผลดีมาแล้ว จึงนำมาเล่าเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาไว้ดังนี้

- การแก้ปัญหาข้าวบูด

• เมื่อหุงแล้ว ให้นำข้าวมาแผ่กระจายให้เย็นก่อนบรรจุถุงหรือกล่องโฟม

• ของแห้งหรือกับข้าวประเภทแกง หรือของทอด ควรแยกใส่ถุงก่อนรวมเข้ากล่อง

• เมื่อแจกจ่าย จะต้องบอกวิธีดูแลรักษาก่อนบริโภค เช่น แนะนำว่า ควรนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง หรือห้ามวางไว้ในที่ร้อน เป็นต้น

- การแก้ปัญหาข้าวแฉะหรือดิบ

• ใช้ข้าวกลางเก่ากลางใหม่ที่อยู่ระหว่าง ๗ - ๑๐ เดือน



การตีความของกลุ่ม

- ปัจจัยแห่งความสำเร็จ : ผู้พูดได้ใช้ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม ผนวกกับประสบการณ์และการตั้งข้อสังเกตมาช่วยในการแก้ปัญหา

- สาระที่ได้จากผู้พูด : ผู้ฟังได้รับความรู้ในเรื่องการป้องกันข้าวกล่องบูดเมื่อมีภารกิจที่ต้องสนับสนุนหน่วยต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารกล่องที่มีคุณภาพดี ได้รับคุณค่าของอาหารอย่างเหมาะสม ไม่สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญคือทำให้หน่วยที่รับการสนับสนุนสามารถบรรลุภารกิจได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น