วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดหาผ้าพราง ทร.

เรื่องเล่าชาวพลาฯ (จากกิจกรรม KM หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวา รร.พธ.พธ.ทร.)


เรื่อง การจัดหาผ้าพราง ทร.

ผู้เล่า น.ต. พงษ์ศักดิ์ ภู่ถาวร

ผู้จดบันทึก น.ต. พีระพล สงครามพล

ในปี งป. 46 ทร.มีนโยบายที่จะปรับปรุงเครื่องแบบเฉพาะกาลสีพรางของหน่วยต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งชนิดของผ้าและ Shade สี น.ต. พงษ์ศักดิ์ฯ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานอยู่ที่ กคค.พธ.ทร. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงผ้าพรางในครั้งนี้ด้วย ในฐานะเจ้าหน้าที่ในการจัดหายุทธอาภรณ์สนับสนุนให้แก่หน่วยต่างๆ ใน ทร. โดยเริ่มแรก ทร.ได้เชิญหน่วยเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กพ.ทร. กบ.ทร. นย. สอ.รฝ. นสร.กร. กสพ.ฐท.สส. และ พธ.ทร.เข้าร่วมประชุมหารือ แต่ในท้ายที่สุดก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

military duck

ต่อมา นย.ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกวาระหนึ่ง ในครั้งนี้ นย.ได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ชุดเฉพาะกาลสีพรางของ ทร.ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ยังมีคุณภาพไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงควรปรับปรุงให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับของ นย.สหรัฐฯ ทั้งลายผ้าและ Shade สี แต่ส่วนผสมของเนื้อผ้าให้มีความแตกต่างออกไป โดยให้มีส่วนประกอบเป็น ฝ้าย 50 % และไนล่อน 50 % ลักษณะการทอเป็นแบบลายสอง กับให้เพิ่มจำนวนขนาดจากเดิมที่เคยมีเพียง 4 ขนาด ให้เพิ่มเป็น 12 ขนาด และขอให้ปรับปรุงคุณภาพการตัดเย็บให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับเครื่องแบบของสหรัฐฯ ด้วย

พธ.ทร.ได้ประสานรายละเอียดไปยังผู้ประกอบการที่เคยผลิตผ้าพรางแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถผลิตผ้าตามที่ นย.เสนอได้ เนื่องจากเครื่องย้อมที่มีอยู่ไม่สามารถย้อมสีได้ ส่วนการทอแบบลายสองนั้น สามารถดำเนินการให้ได้ แต่ต้องเปลี่ยนส่วนผสมของเนื้อผ้าให้เป็นฝ้าย 60 % และโพลีเอสเตอร์ 40 % ซึ่งจากการประชุมในวาระต่อมา ที่ประชุมได้มีมติยอมรับให้คุณลักษณะของผ้าเป็นไปที่ พธ.ทร.แจ้งให้ทราบ

หลังจากได้ข้อยุติแล้ว พธ.ทร.ได้ประสานไปยัง บ.ผู้ผลิตผ้าอีกครั้ง เพื่อขอนำผู้แทนหน่วยจาก นย. สอ.รฝ. (หน่วยผู้ใช้) วศ.ทร. (หน่วยตรวจสอบคุณภาพ) และ พธ.ทร. เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตและโรงงานย้อมผ้า ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนของหน่วยได้รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิต ระบบการควบคุม รวมถึงการทดสอบคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานของโรงงาน และหากผู้แทนหน่วยท่านใด พบเห็นข้อบกพร่องหรือมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถซักถามได้โดยตรงจาก จนท.ของโรงงาน

Kiddie Cadet

จะเห็นได้ว่าการเปิดโอกาสให้หน่วยที่เกี่ยวข้อทั้งหมดได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประสานงาน การพิจารณาตกลงใจ กระทั่ง การดูงานผลิตผ้าในโรงงานนั้น สิ่งเหล่านี้ ล้วนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความพึงพอใจให้แก่หน่วยผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงความโปร่งใสและความจริงใจ ในอันที่จะร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง สามารถสนองตอบความต้องการของทุกหน่วยได้อย่างดียิ่ง

ในโอกาสต่อมา พธ.ทร.ได้พิจารณาปรับเพิ่มจำนวนขนาดของชุดพราง เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของหน่วยได้ดียิ่งขึ้น โดยจะต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่ พธ.ทร.ได้รับด้วย ซึ่งจากเดิมที่ นย.ขอปรับเพิ่มจาก 4 ขนาด เป็น 12 ขนาด นั้น มติที่ประชุม ได้เห็นควรให้ปรับเพิ่มเป็น 6 ขนาด โดยในแต่ละขนาด สามารถปรับความกว้างรอบเอวลงได้ 2 นิ้ว ตามความเหมาะสมกับขนาดร่างกายของผู้สวมใส่ ซึ่ง พธ.ทร.ได้ใช้แนวทางนี้ดำเนินการจัดหามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ พธ.ทร.ยังได้ปรับปรุงรูปแบบ และวิธีการตัดเย็บชุดพรางเพื่อให้มีความคงทนต่อการใช้งานได้ดียิ่งขึ้นด้วย

การตีความ/ประโยชน์ที่ได้รับ

ได้เห็นถึงขั้นตอนการเจรจาต่อรองและการประนีประนอมระหว่างหน่วยผู้ใช้และหน่วยสนับสนุนเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ คือ ความต้องการของหน่วยผู้ใช้และความเป็นไปได้ในการจัดหาและส่งกำลัง

การให้หน่วยผู้ใช้และหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้หน่วยผู้ใช้มีความพึงพอใจมากขึ้น และสร้างความรู้สึกที่ดี เนื่องจากหน่วยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการตั้งแต่แรก นอกจากนี้ ยังทำให้หน่วยได้ทราบถึงขั้นตอนวิธีดำเนินการ ปัญหาและข้อจำกัดในการจัดหาพัสดุให้แก่หน่วยด้วย

การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะให้มีความยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้กว้างขวางขึ้น (กางเกงมีขนาดที่ปรับความกว้างของรอบเอวที่ได้) ทำให้ช่วยลดจำนวนรายการพัสดุที่ต้องสำรองคลังลงได้

2 ความคิดเห็น:

  1. หลังจากที่ผมได้อ่านแล้ว ก็ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของ พธ.ทร. อีกก้าวหนึ่ง ต่อไปอาจพัฒนาไปไกลกว่าที่คิดแน่นอน

    ตอบลบ
  2. เป็นความชาญฉลาดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ที่ทำให้บรรลุเป้าหมายในการส่งกำลังบำรุง อีกทั้งยังทำให้ลดจำนวนรายการพัสดุที่ต้องสำรองคลังด้วย
    เป็นเรื่องที่สมควรยกย่อง ชมเชยครับ
    ยอดเยี่ยมมาก.

    ตอบลบ