วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการใช้เชคเกอร์

เรื่องเล่าชาวพลาฯ (จากกิจกรรม KM หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวา รุ่นที่ 4)

เรื่อง เทคนิคการใช้เชคเกอร์


ผู้เล่า ร.อ. เอนก ศรีอ่อน


ผู้จดบันทึก น.ต. ยศธน งามจำรัส


น.ต. ดำรงค์ บุญเพิ่ม



          จากการที่ ร.อ. เอนกฯ เป็นครูสอนวิชาบริการ อยู่ที่ รร.พธ.พธ.ทร. จึงมีหน้าที่อย่างหนึ่งคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการผสมเครื่องดื่ม ซึ่งครูเอนกแต่เดิมนั้นไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนี้เลย แต่ได้ศึกษาจากข้าราชการรุ่นก่อนและค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเอง นอกจากนี้ยังได้แอบเก็บความรู้จากนักเรียนพลที่มีความรู้หรือเคยเป็นบาร์เทนเดอร์มาก่อน จนเมื่อสะสมประสบการณ์ในการสอนมาเป็นเวลานาน จึงสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนหลักสูตรต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สำหรับเรื่องที่ ร.อ.เอนกฯ จะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการใช้เชคเกอร์ ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผสมเครื่องดื่ม โดยชั้นเรียนได้ร่วมกันบันทึกไว้ดังนี้

ส่วนประกอบของเชคเกอร์

- ส่วนที่ 1 ฝาปิดด้านบน

- ส่วนที่ 2 ฝาปิดตัวเชคเกอร์ (มีรูที่ฝา)

- ส่วนที่ 3 ตัวเชคเกอร์




การเลือกซื้อ

          มี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ควรเลือกซื้อขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เพื่อที่เวลาผสมแต่ละครั้ง จะได้เครื่องดื่มปริมาณมาก และเวลาเขย่า จะมีสุญญากาศ น้ำแข็งเคลื่อนตัวได้ ทำให้เครื่องดื่มเย็นได้เร็ว

เทคนิคและขั้นตอนการใช้เชคเกอร์

- การเปิดฝา ควรเปิดส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 พร้อมกัน เพื่อใส่วัตถุดิบในการผสมค็อกเทลตามลำดับ

- การใส่วัตถุดิบ กรณียังไม่ชำนาญ ควรใส่เครื่องดื่มประเภทเหล้า น้ำมะนาว น้ำเชื่อมก่อน แล้วใส่น้ำแข็งทีหลังสุด เพราะหากผสมช้า น้ำแข็งจะละลาย ทำให้รสชาติของค็อกเทลเปลี่ยนไป แต่หากมีความชำนาญ สามารถผสมได้รวดเร็ว จะใส่น้ำแข็งก่อน แล้วใส่วัตถุดิบอื่นตามก็ได้ ซึ่งจะทำให้เครื่องดื่มเย็นเร็วขึ้นและผสมได้เร็วขึ้นทันกับความต้องการของแขกในงาน การใส่วัตถุดิบจึงขึ้นอยู่กับเทคนิคและความชำนาญของแต่ละคน

- การปิดเชคเกอร์ ควรปิดส่วนที่ 2 ก่อน เพื่อให้อากาศออกได้ แล้วจึงปิดส่วนที่ 1

- การจับเชคเกอร์ มีด้วยกัน 2 แบบ

แบบที่ 1 การจับสองมือ นิ้วหัวแม่มือ จะต้องอยู่ที่ส่วนที่ 1 (ฝาปิด) นิ้ว 4 นิ้วที่เหลือ จับที่ตัว เชคเกอร์ ส่วนอีกมือจับตัวเชคเกอร์ (ส่วนที่ 2 และ 3) เพื่อไม่ให้หลุดจากกัน
 

แบบที่ 2 การจับมือเดียว นิ้วชี้จะต้องจับส่วนที่ 1 (ฝาปิด) อีก 4 นิ้ว จับที่ตัวเชคเกอร์


- เทคนิคการเขย่า จะต้องเขย่าแรงๆ และเร็วๆ ระหว่างเขย่าอาจเคาะเชคเกอร์กับโต๊ะบ้าง เพื่อให้เชคเกอร์แน่นและเครื่องดื่มไม่กระฉอกออกมา ถ้าต้องการเรียกร้องความสนใจ อาจเปิดเพลงและเพิ่มลีลาการเขย่าไปตามเสียงเพลงก็ได้ เมื่อเขย่าเสร็จแล้วใช้มือเปิดออก ถ้าไม่ออกให้ใช้ช้อนเล็กๆ เคาะเบา ๆ ที่ฝาแล้วเปิดออก รินผ่านรูของส่วนที่ 2 หรือถ้าต้องการน้ำแข็งควรเปิดส่วนที่ 2 รินพร้อมกับน้ำแข็ง

การร่วมกันตีความของกลุ่ม

- สาระประโยชน์ที่ได้จากการฟัง ได้รับทราบเทคนิคในการใช้เชคเกอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผสมเครื่องดื่มเพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติดี ถูกต้องตามส่วนผสม และในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการงานจัดเลี้ยงของ พธ.ทร.ได้ ซึ่งความรู้นี้ ปัจจุบันยังไม่ได้ปรากฏในตำราวิชาการบริการของ รร.พธ.ฯ (ยังถือเป็น Tacit Knowledge)

- ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ผู้เล่ามีใจรักในงานและมีความตั้งใจในการสอน ต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน แม้จะไม่มีพื้นฐานการผสมเครื่องดื่มมาแต่เดิม แต่ได้อาศัยการเรียนรู้จากการถ่ายทอดของข้าราชการรุ่นก่อนและการศึกษาเอง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนในชั้น (โดยใช้อุบายให้ทำให้ดู) ทำให้สามารถรวบรวมเทคนิคเกี่ยวกับการใช้เชคเกอร์นี้ขึ้นมาได้

2 ความคิดเห็น:

  1. คับผมคนนึงแหละที่ไม่มีความรู้เรื่องเชคเกอร์เลย จนมา รร.พธ. ฯ ก็ได้สัมผัส ได้เห็น และได้ลองทำดู ได้เทคนิคหลายอย่าง เช่น การเขย่าไม่ต้องเขย่าถี่ ๆ เขย่าให้จังหวะช้านิดนึง จะทำให้น้ำแข็งเกาะเชคเกอร์เร็วขึ้นคับ
    (ถ่าย VDO บ่อยก็เลยจำได้คับ)55555

    ตอบลบ
  2. ่joy.ck เยี่ยมมาก ใกล้เกลือกินเกลือ อานิสงฆ์ของการเป็นตากล้อง อีกหน่อยคงได้วิชาผสมเหล้าอร่อยๆ จากครูบริการหลายขนาน แต่อย่ามัวดื่มจนเพลิน เด๋วจะสอบจัดอันดับ มะได้

    ครูบริการท่านใดมีเทคนิคเกี่ยวกับเชคเกอร์จะเพิ่มเติม เชิญเม้นท์ได้เลยนะครับ เมื่อสอบทานดีแล้ว ผมจะได้นำข้อมูลไปเพิ่มเติมในบทความให้เลย

    ตอบลบ