วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

วิธีการนวดปลาสำหรับทำทอดมัน

เรื่องเล่าชาวพลา: วิธีการนวดปลาที่จะทำทอดมันให้ปลาเหนียวไม่ร่วน

จากกิจกรรม KM ของนักเรียนหลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้น จ.อ.ปี งป.๕๒

จ.อ. บุรินทร์ ชมวิเชียร ผู้เล่า

จ.อ. ประเวศ นามวิเศษ ผู้จดบันทึก

การทำทอดมันนั้นมีวิธีการและเทคนิคอยู่หลายอย่าง แต่คุณสมบัติประการหนึ่งของทอดมันที่ยอมรับกันว่าอร่อยนั้นก็คือ ทอดมันนั้นจะต้องไม่ร่วนและมีความเหนียวพอเหมาะ บ้านของ จ.อ. บุรินทร์ฯ ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีอาชีพทำทอดมันขายและได้รับการยอมรับว่าทำได้อร่อยถึงขนาดมีคนจากเชียงใหม่มาซื้อถึงที่เลยทีเดียว จ.อ. บุรินทร์ฯ จึงได้มาเล่าถึงเทคนิคการทำทอดมันปลากรายให้เนื้อปลาเหนียว ไม่ร่วน ให้นักเรียนหลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้น จ.อ. ฟังว่า เคล็ดลับก็คือการทำให้เนื้อปลาที่จะนำมาทอด มีความเย็นอยู่เสมอ ซึ่งมีวิธีการทำได้ ๒ วิธี ดังนี้

วิธีที่ ๑ นำเนื้อปลาไปแช่ในน้ำแข็ง มีขั้นตอนดังนี้

๑. สามารถนำมานวดหรือโขลกได้ทันที โดยให้นำเนื้อปลาใส่ภาชนะที่จะทำการนวด ซึ่งภาชนะที่ใช้ควรมีขนาดใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการนวดและทำให้สามารถนวดปลาได้ทั่วถึง

๒. นำภาชนะที่ใส่เนื้อปลา มาวางบนน้ำแข็งที่ใส่ไว้ในลัง ถาดหรือภาชนะที่ใหญ่กว่าภาชนะที่ใส่เนื้อปลา ความเย็นของน้ำแข็งใต้ภาชนะใส่เนื้อปลา จะทำให้เนื้อปลามีความเย็นอยู่เสมอ

๓. หากมีภาชนะที่จะใส่เนื้อปลาเพียงหนึ่งใบ หรือมีน้ำแข็งไม่เพียงพอที่จะรองภาชนะที่ใส่เนื้อปลานั้น ให้นำน้ำแข็งป่นใส่ผสมกับเนื้อปลาแล้วนวดได้เลย โดยใช้อัตราส่วน : เนื้อปลา ๑ กิโลกรัม ต่อ น้ำแข็งครึ่งกำมือ หรือน้อยกว่านั้น ไม่ควรใส่มากเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อปลาเหลว ซึ่งวิธีการนี้ จะทำให้เนื้อปลามีความเย็นอยู่เสมอเช่นเดียวกัน


วิธีที่ ๒ นำเนื้อปลาไปแช่แข็งจนเป็นน้ำแข็ง ให้นำเนื้อปลาไปแช่ในช่องแข็งของตู้เย็นจนเป็นน้ำแข็ง เมื่อจะนำไปใช้ ควรนำเนื้อปลาไปผึ่งลมให้น้ำแข็งละลายเองก่อน (ไม่ควรน้ำเนื้อปลาไปแช่น้ำเพื่อให้น้ำแข็งละลาย เพราะเนื้อปลาจะเหลวและเสียรสชาด) เมื่อเนื้อปลาเริ่มนิ่ม แต่ยังมีความเย็นอยู่ ก็สามารถนำมานวดได้เลย และเมื่อนวดไปแล้ว หากเนื้อปลาเริ่มไม่มีความเย็นหรือเย็นน้อยลงแล้ว ก็สามารถนำนำวิธีการในข้อ ๓. ของวิธีที่ ๑ มาใช้ได้เช่นกัน

tod man pla

ประโยชน์ที่ได้รับ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเทคนิคในการประกอบอาหารประเภททอดมัน เพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย

เทคนิคการเก็บเนื้อสัตว์ในเรือ

เรื่องเล่าชาวพลาฯ : เทคนิคการจัดเก็บเนื้อสัตว์ลงในห้องเย็นของเรือที่ออกปฏิบัติราชการทะเล

จากกิจกรรม KM หลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้น จ.อ. ประจำปี งป. 52

จ.อ. สนธยา ผิผ่วนนอก ผู้เล่าเรื่อง

จ.อ. สลง นามบุตร ผู้บันทึก

Beat the Meat

ในการออกราชการทะเล เรือแต่ละลำจำเป็นต้องจัดซื้อเนื้อสัตว์เก็บสำรองไว้ในห้องเย็นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอกับระยะเวลาการปฏิบัติราชการ จ.อ. สนธยาฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สหโภชน์ สังกัดเรือใน กยพ.กร. ได้นำเทคนิคการจัดเก็บเนื้อสัตว์ในห้องเย็นของเรือที่ต้องออกราชการทะเลเป็นเวลานานๆ มาเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในห้องเรียนหลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้น จ.อ. ดังนี้


สิ่งที่ต้องเตรียมไว้

1. ถุงแช่

2. ยางรัด

3. กระดาษแข็งตัดไว้สำหรับเขียนประเภทของหมู (หมูแล่หรือบด)


วิธีการจัดเก็บ

Meat1. นำเนื้อสัตว์มาแยกใส่ถุงแช่ ถุงละ 1 กก. หรือ 2 กก. ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก (ควรแบ่งถุงละเท่าๆ กัน)

2. ไล่ลมออกจากถุงให้หมด แล้วมัดปากถุงให้เรียบร้อย

3. ทำให้ถุงที่เราใส่หมูนั้น แบนๆ หนาไม่เกิน 1 นิ้ว (อย่าลืมนำป้ายกระดาษที่เราเตรียมไว้ ใส่ลงในถุงด้วย เพื่อที่จะได้ไม่หลงในการหยิบมาใช้)

4. จากนั้น นำลงไปแช่ โดยจัดให้เป็นสัดส่วน


As The Meat Agesวิธีการนำมาใช้

- นำหมูมาแช่น้ำโดยไม่ตองแกะถุง ประมาณ ½ ชั่วโมง ก็สามารถนำมาหั่นได้ และไม่เสียคุณค่าทางอาหารมากนัก










Big Al's meat closetข้อดี

- การแบ่งใส่ถุงใหม่ เป็นการตรวจสอบไปในตัวว่า เนื้อสัตว์ครบจำนวน หรือไม่

- สามารถหยิบมาใช้ได้โดยสะดวก

- ละลายน้ำแข็งได้เร็วขึ้น

- เสียคุณค่าทางอาหารน้อยลง

เทคนิคในการซ่อมแซมเครื่องแบบที่ตัดเย็บด้วยผ้าโพลีเอสเตอร์ของ ทร.

เรื่องเล่าชาวพลา: เทคนิคในการซ่อมแซมเครื่องแบบที่ตัดเย็บด้วยผ้าโพลีเอสเตอร์ของ ทร.


จากกิจกรรม KM ของนักเรียนหลักสูตรอาชีพเพื่อเลื่อนฐานะชั้น พ.จ.อ. (สายพัสดุ) ประจำปี งป. ๕๒

พ.จ.อ. โชคชัย แท่นมณี ผู้เล่าเรื่อง

พ.จ.อ. สันติ ขุ่ยคำมี ผู้บันทึก ๑

พ.จ.อ. วีรยุทธ ภูสิมมา ผู้บันทึก ๒






ปัจจุบันผ้าที่เรานำมาตัดเป็นเครื่องแบบสำหรับนายทหารสัญญาบัตร และพันจ่า โดยเฉพาะเครื่องแบบสีกากีนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ที่เราได้รับแจกจาก พธ.ทร. หรือเป็นของขวัญจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่ดีอยู่หลายประการ แต่ข้อด้อยก็คือ เนื้อผ้าดังกล่าวมีลักษณะที่ง่ายต่อการชำรุด โดยเมื่อถูกของมีคมเกี่ยวแล้ว เส้นด้ายของเนื้อผ้าก็มักจะหลุดลุ่ย โผล่ออกมาจนสังเกตเห็นได้ชัด หรือบางครั้งก็มีรอยเป็นเส้นยาว ทำให้ดูแล้วไม่เรียบร้อยสวยงาม และหากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจเกิดความเสียหายต่อเนื้อผ้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายท่านคงจะได้ทดลองใช้เทคนิคต่างๆ ในการแก้ปัญหานี้มาบ้างแล้ว แต่หากเทคนิคที่ท่านใช้ยังไม่ได้ผลหรือไม่ดีพอ พ.จ.อ. โชคชัย ฯ ได้เสนอแนะให้ลองใช้วิธีการง่าย ๆ และใช้เครื่องมือที่หาได้ทั่วๆ ไป นั่นก็คือการใช้ “ไม้จิ้มฟัน”



Toothpicks



วิธีการคือ ให้นำไม้จิ้มฟันข้างที่เป็นปลายแหลม นำมาจิ้มเส้นด้ายที่โผล่ออกมาเป็นเส้น หรือเป็นกระจุกๆ ให้ย้อนกลับเข้าไปทางรูเดิม ซึ่งจะเป็นการซ่อมแซมให้รอยชำรุดกลับคืนสู่สภาพ หรือใกล้เคียงกับสภาพเดิมจนแทบมองไม่เห็นรอยชำรุดนั้น และยังเป็นการป้องกันและยับยั้งไม่ให้มีอะไรมาเกี่ยวเส้นด้ายที่โผล่ขึ้นมานั้น จนทำให้ผ้าเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้นได้ด้วย จึงนับว่าการซ่อมแซมเครื่องแบบเบื้องต้นด้วยไม้จิ้มฟันนี้ เป็นเทคนิคง่ายๆ ที่มีประโยชน์ สามารถทำให้เครื่องแบบกลับคืนสู่สภาพสวยงาม เรียบร้อย น่าสวมใส่ และยืดอายุการใช้งานของผ้าหรือเครื่องแบบไปได้อีกระยะหนึ่ง



ที่มา : จากประสบการณ์ที่แนะนำต่อกันมา

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

การจัดหาผ้าพราง ทร.

เรื่องเล่าชาวพลาฯ (จากกิจกรรม KM หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวา รร.พธ.พธ.ทร.)


เรื่อง การจัดหาผ้าพราง ทร.

ผู้เล่า น.ต. พงษ์ศักดิ์ ภู่ถาวร

ผู้จดบันทึก น.ต. พีระพล สงครามพล

ในปี งป. 46 ทร.มีนโยบายที่จะปรับปรุงเครื่องแบบเฉพาะกาลสีพรางของหน่วยต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งชนิดของผ้าและ Shade สี น.ต. พงษ์ศักดิ์ฯ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานอยู่ที่ กคค.พธ.ทร. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงผ้าพรางในครั้งนี้ด้วย ในฐานะเจ้าหน้าที่ในการจัดหายุทธอาภรณ์สนับสนุนให้แก่หน่วยต่างๆ ใน ทร. โดยเริ่มแรก ทร.ได้เชิญหน่วยเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กพ.ทร. กบ.ทร. นย. สอ.รฝ. นสร.กร. กสพ.ฐท.สส. และ พธ.ทร.เข้าร่วมประชุมหารือ แต่ในท้ายที่สุดก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

military duck

ต่อมา นย.ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกวาระหนึ่ง ในครั้งนี้ นย.ได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ชุดเฉพาะกาลสีพรางของ ทร.ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ยังมีคุณภาพไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงควรปรับปรุงให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับของ นย.สหรัฐฯ ทั้งลายผ้าและ Shade สี แต่ส่วนผสมของเนื้อผ้าให้มีความแตกต่างออกไป โดยให้มีส่วนประกอบเป็น ฝ้าย 50 % และไนล่อน 50 % ลักษณะการทอเป็นแบบลายสอง กับให้เพิ่มจำนวนขนาดจากเดิมที่เคยมีเพียง 4 ขนาด ให้เพิ่มเป็น 12 ขนาด และขอให้ปรับปรุงคุณภาพการตัดเย็บให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับเครื่องแบบของสหรัฐฯ ด้วย

พธ.ทร.ได้ประสานรายละเอียดไปยังผู้ประกอบการที่เคยผลิตผ้าพรางแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสามารถผลิตผ้าตามที่ นย.เสนอได้ เนื่องจากเครื่องย้อมที่มีอยู่ไม่สามารถย้อมสีได้ ส่วนการทอแบบลายสองนั้น สามารถดำเนินการให้ได้ แต่ต้องเปลี่ยนส่วนผสมของเนื้อผ้าให้เป็นฝ้าย 60 % และโพลีเอสเตอร์ 40 % ซึ่งจากการประชุมในวาระต่อมา ที่ประชุมได้มีมติยอมรับให้คุณลักษณะของผ้าเป็นไปที่ พธ.ทร.แจ้งให้ทราบ

หลังจากได้ข้อยุติแล้ว พธ.ทร.ได้ประสานไปยัง บ.ผู้ผลิตผ้าอีกครั้ง เพื่อขอนำผู้แทนหน่วยจาก นย. สอ.รฝ. (หน่วยผู้ใช้) วศ.ทร. (หน่วยตรวจสอบคุณภาพ) และ พธ.ทร. เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตและโรงงานย้อมผ้า ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนของหน่วยได้รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิต ระบบการควบคุม รวมถึงการทดสอบคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานของโรงงาน และหากผู้แทนหน่วยท่านใด พบเห็นข้อบกพร่องหรือมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถซักถามได้โดยตรงจาก จนท.ของโรงงาน

Kiddie Cadet

จะเห็นได้ว่าการเปิดโอกาสให้หน่วยที่เกี่ยวข้อทั้งหมดได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประสานงาน การพิจารณาตกลงใจ กระทั่ง การดูงานผลิตผ้าในโรงงานนั้น สิ่งเหล่านี้ ล้วนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความพึงพอใจให้แก่หน่วยผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงความโปร่งใสและความจริงใจ ในอันที่จะร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง สามารถสนองตอบความต้องการของทุกหน่วยได้อย่างดียิ่ง

ในโอกาสต่อมา พธ.ทร.ได้พิจารณาปรับเพิ่มจำนวนขนาดของชุดพราง เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของหน่วยได้ดียิ่งขึ้น โดยจะต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่ พธ.ทร.ได้รับด้วย ซึ่งจากเดิมที่ นย.ขอปรับเพิ่มจาก 4 ขนาด เป็น 12 ขนาด นั้น มติที่ประชุม ได้เห็นควรให้ปรับเพิ่มเป็น 6 ขนาด โดยในแต่ละขนาด สามารถปรับความกว้างรอบเอวลงได้ 2 นิ้ว ตามความเหมาะสมกับขนาดร่างกายของผู้สวมใส่ ซึ่ง พธ.ทร.ได้ใช้แนวทางนี้ดำเนินการจัดหามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ พธ.ทร.ยังได้ปรับปรุงรูปแบบ และวิธีการตัดเย็บชุดพรางเพื่อให้มีความคงทนต่อการใช้งานได้ดียิ่งขึ้นด้วย

การตีความ/ประโยชน์ที่ได้รับ

ได้เห็นถึงขั้นตอนการเจรจาต่อรองและการประนีประนอมระหว่างหน่วยผู้ใช้และหน่วยสนับสนุนเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ คือ ความต้องการของหน่วยผู้ใช้และความเป็นไปได้ในการจัดหาและส่งกำลัง

การให้หน่วยผู้ใช้และหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้หน่วยผู้ใช้มีความพึงพอใจมากขึ้น และสร้างความรู้สึกที่ดี เนื่องจากหน่วยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการตั้งแต่แรก นอกจากนี้ ยังทำให้หน่วยได้ทราบถึงขั้นตอนวิธีดำเนินการ ปัญหาและข้อจำกัดในการจัดหาพัสดุให้แก่หน่วยด้วย

การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะให้มีความยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้กว้างขวางขึ้น (กางเกงมีขนาดที่ปรับความกว้างของรอบเอวที่ได้) ทำให้ช่วยลดจำนวนรายการพัสดุที่ต้องสำรองคลังลงได้

การแก้ปัญหาข้าวกล่อง

เรื่องเล่าเร้าพลัง


จากกิจกรรม KM หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวา รุ่นที่ ๔ รร.พธ.พธ.ทร.

หลังจากที่ นทน.หลักสูตร นพธ.ชั้นนายนาวาได้พยายามบ่มเพาะความรู้เกี่ยวกับ KM มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จนมีความรู้ขึ้นมาบ้างแบบงูๆ ปลาๆ และแม้จะยังกล้าๆ กลัวๆ แต่ในที่สุดพวกเราก็ตัดสินใจทดลองทำ KM กันจริงๆ เสียที โดยช่วงแรกนี้ เราได้เลือกใช้เทคนิค Story Telling หรือเรื่องเล่าเร้าพลังมาเป็นเครื่องมือ โดยการปรับเปลี่ยนการฝึกพูดตอนเช้ามาเป็นการเล่าเรื่อง ซึ่งแม้ว่าการทำ KM ของพวกเราจะไม่สามารถระบุหัวข้อ (หัวปลา ตามโมเดลปลาทูของ ส.ค.ส.) ได้อย่างชัดเจนเนื่องจากพวกเรามาจากต่างหน่วยและมีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่เราก็คิดว่าความแตกต่างนี้จะช่วยเป็นพลังผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยพวกเราจะได้นำความรู้ที่ได้เหล่านี้มาเผยแพร่ยังเวปบอร์ดแห่งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ชาวพลาธิการทุกท่าน ซึ่งก่อนที่ นทน.จะสำเร็จการอบรมและสลายตัวไป ก็หวังว่าการทดลองทำ KM ของพวกเรา คงพอจะเกิดประโยชน์และได้ความรู้ที่จะเป็นข้อมูลให้แก่คณะกรรมการจัดการความรู้ของ พธ.ทร.ได้นำไปพิจารณาคัดเลือกเพื่อจัดเก็บเป็นองค์ความรู้ของ พธ.ทร.ให้พวกเราได้นำไปใช้ต่อยอดและสร้างองค์ความรู้ต่อๆ กันไป

สำหรับผู้ที่จะมาเปิดฟลอร์วันนี้ ได้รับเกียรติจาก ร.อ. มณีฯ หรือครูมณีแห่ง รร.พธ.ฯ ซึ่งจะมาพูดให้พวกเราฟังเกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้าวกล่อง โดยมี น.ท. บำเพ็ญ ศรีสมบัติ ประธานรุ่น รับหน้าที่เป็น note taker หรือ คุณลิขิต



เรื่อง การแก้ปัญหาข้าวกล่อง (เรื่องเล่าจากหลักสูตร นพธ.ชั้น นายนาวา รุ่นที่ ๔ รร.พธ.พธ.ทร.)

ผู้พูด /ผู้เชี่ยวชาญ : ร.อ. มณี เขียนกระจ่าง

ผู้จดบันทึก : น.ท. บำเพ็ญ ศรีสมบัติ



ครูมณี เป็นครูอาหารของ รร.พธ.ฯ ซึ่งเคยปฏิบัติงานด้านการจัดเลี้ยงมาก่อน และได้เคยพบปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำข้าวกล่องเพื่อสนับสนุนให้แก่หน่วยต่างๆ โดยปัญหานั้นก็ได้แก่ ปัญหาข้าวมักบูดเสียง่าย หรือไม่น่ารับประทาน (ไม่อร่อย) เช่น ข้าวแข็ง แฉะ หรือสุกๆ ดิบๆ จนไม่สามารถรับประทานได้ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วย ครูมณีจึงได้พยายามหาวิธีการแก้ปัญหานี้



Speedy chicken lunches for toddlers


ครูมณีมีญาติเป็นเจ้าของโรงสี จึงพอจะมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับข้าวอยู่บ้าง ดังนี้

ชนิดของข้าว สามารถแยกตามอายุของข้าวดังต่อไปนี้

ข้าวใหม่ : เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ หรือไม่เกิน ๓ เดือน นำมาสี การสังเกตจากเม็ดข้าวจะเห็นว่ามีน้ำหนัก ไม่ค่อยมีฝุ่นละออง เมื่อทิ้งลงพื้นจะไม่กระเด็น

ข้าวกลางเก่ากลางใหม่ : เป็นข้าวที่ได้จากภายหลังเก็บเกี่ยว ๕ – ๑๐ เดือน เมื่อหยิบจับจะมีละอองข้าวติดมือ เมื่อทิ้งลงพื้น จะกระเด็นมากกว่าข้าวใหม่

ข้าวเก่า : เป็นข้าวที่นำข้าวซึ่งเก็บเกี่ยวมาแล้วมากกว่า ๑ ปี มาสี เมื่อใช้มือสัมผัส จะมีฝุ่นมากกว่าข้าวใหม่ และข้าวกลางเก่ากลางใหม่ ถ้าเก็บไว้นานๆ จะมีรังข้าวหรือหนอนข้าวเกิดขึ้น ข้าวเก่านี้ ถ้าตากไม่แห้ง จะมีลักษณะขาวขุ่นและยุ่ยง่าย



แหล่งที่มาของข้าว

ข้าวนาปรัง : ได้จากกการทำนาปีละ ๓ ครั้ง เก็บเกี่ยวได้เร็ว มีความชื้นมากกว่าข้าวนาปี

ข้าวนาปี : ได้จากการทำนาปีละครั้ง ข้าวมีอายุยาวนานกว่าจะเก็บเกี่ยว



จากความรู้ดังกล่าว ครูมณีได้สังเกตเพิ่มเติมแล้วก็พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับข้าวกล่องตามที่กล่าวข้างต้นนั้น มีสาเหตุดังนี้

- ข้าวบูด : ปัญหาเกิดจากการนำข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ขณะร้อนมาใส่กล่อง ทำให้มีเหงื่อของข้าว ภายหลังบรรจุกล่องแล้ว เก็บไว้ไม่นานก็จะบูด นอกจากนี้ การที่ข้าวสัมผัสกับอาหารที่บูดเสียง่าย หรือการที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน จะเป็นตัวเร่งให้ข้าวกล่องบูดได้เร็วขึ้นด้วย

- ข้าวแข็ง : เกิดจากการนำข้าวเก่ามาหุง เวลาหุงใส่น้ำน้อย

- ข้าวแฉะ : เกิดจากการนำข้าวใหม่มาหุง เมื่อข้าวเย็นตัวลงจึงจับตัวเป็นก้อน หรือเกิดจากการหุงใส่น้ำมาก ไม่ได้อัตราส่วน

- ข้าวสุกๆ ดิบๆ : เกิดจากการนำข้าวที่มีส่วนผสมระหว่างข้าวเก่าและข้าวใหม่มาหุง ทำให้ข้าวสุกไม่พร้อมกัน หรือบางส่วนยังไม่สุก



การแก้ปัญหา : ครูมณีได้นำความรู้และข้อสังเกตนี้ไปปรับใช้และได้ผลดีมาแล้ว จึงนำมาเล่าเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาไว้ดังนี้

- การแก้ปัญหาข้าวบูด

• เมื่อหุงแล้ว ให้นำข้าวมาแผ่กระจายให้เย็นก่อนบรรจุถุงหรือกล่องโฟม

• ของแห้งหรือกับข้าวประเภทแกง หรือของทอด ควรแยกใส่ถุงก่อนรวมเข้ากล่อง

• เมื่อแจกจ่าย จะต้องบอกวิธีดูแลรักษาก่อนบริโภค เช่น แนะนำว่า ควรนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง หรือห้ามวางไว้ในที่ร้อน เป็นต้น

- การแก้ปัญหาข้าวแฉะหรือดิบ

• ใช้ข้าวกลางเก่ากลางใหม่ที่อยู่ระหว่าง ๗ - ๑๐ เดือน



การตีความของกลุ่ม

- ปัจจัยแห่งความสำเร็จ : ผู้พูดได้ใช้ฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม ผนวกกับประสบการณ์และการตั้งข้อสังเกตมาช่วยในการแก้ปัญหา

- สาระที่ได้จากผู้พูด : ผู้ฟังได้รับความรู้ในเรื่องการป้องกันข้าวกล่องบูดเมื่อมีภารกิจที่ต้องสนับสนุนหน่วยต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารกล่องที่มีคุณภาพดี ได้รับคุณค่าของอาหารอย่างเหมาะสม ไม่สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญคือทำให้หน่วยที่รับการสนับสนุนสามารถบรรลุภารกิจได้